อธิบดีกรมอุทยานฯสั่งตรวจสอบทุกสวนเสือหลังชุดพญาเสือจับกุมการลักลอบค้าเสือโคร่งได้ที่จ.สุรินทร์
.
(16 ก.ค.67) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พื เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากนายชัยวัฒน์ ลิ้นลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ที่ปรึกษาชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษพิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) ร่วมกับนายพนัสกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพญาเสือ สนธิกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี), สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์, สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอุบลฯ ,อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ,อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ,สัตวแพทย์กรมอุทยานฯ ,ด่านตรวจสัตว์ป่าช่องจอม ร่วมปฏิบัติภารกิจจับกุมกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
.
สืบเนื่องจากนายชัยวัฒน์ฯ ได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท. ประทีป ชูศรี รอง ผกก.สส.สภ.ดม ว่าในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มีการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ จึงได้ให้สายลับทำการติดต่อซื้อขายสัตว์ป่ากับกลุ่มผู้ค้า โดยได้นัดหมายซื้อ-ขาย ลูกเสือโคร่ง จำนวน 6 ตัว และงาช้าง ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 บริเวณวงเวียนบ้านลันแต้ ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เจ้าหน้าที่หน่วยพญาเสือ จึงได้วางแผนและกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อดักซุ่มจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งมีหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติภารกิจประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดม อ.บัวเชด เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. ชุดปฏิบัติการข่าว ประจำจังหวัดสุรินทร์ กระทั่งเวลาประมาณ 18.50 น. สายลับผู้ติดต่อซื้อขายสัตว์ป่า ได้ขับรถยนต์ไปจอดยังจุดนัดพบบริเวณวงเวียนบ้านลันแต้ ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ต่อมาในเวลาประมาณ 18.55 น. พบรถยนต์ต้องสงสัย เป็นรถเก๋งสีดำ ทะเบียนกรุงเทพมหานคร จอดรถหลังรถยนต์สายลับ และมีการโทรแจ้งยืนยัน สายลับจึงได้ลงมาตรวจเช็คของ เมื่อพบว่ามีของจริงสายลับจึงส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่แสดงตัวเข้าจับกุม พบผู้ต้องหา จำนวน 2 คน ภายในรถเป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน ทราบชื่อ 1. นายกรฤทธิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 51 ปี 2.นางมนัส (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี เป็นชาวจังหวัดสุรินทร์
.
ตรวจสอบของกลางพบ ดังนี้
1. ลูกเสือโคร่ง (Panthera tigris) จำนวน 2 ตัว เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 1 ตัว อายุประมาณ 2-3 เดือน สภาพลูกเสือโคร่งมีอาการท้องเสีย ขาดน้ำ อิดโรย และซูบผอม
2. งาช้างเอเซีย จำนวน 4 กิ่ง น้ำหนักรวม 48 กก. งาช้างแอฟริกา จำนวน 26 ท่อน น้ำหนักรวม 49.8 กก. และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง 19 รายการ น้ำหนักรวม 897 กรัม
มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000,000 บาท
เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา ว่าเป็นการกระทำความผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ฐาน “ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 17 และมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
2. ฐาน “ร่วมกันค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 29 และมาตรา 89 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
3. มาตรา 116 บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
4. ฐาน “ร่วมกันค้างาช้างโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 13 ตามพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.2558
5. ฐาน “ร่วมกันครอบครองงาช้างโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 14 และมาตรา 16 ตามพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.2558
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกตรวจยึด จับกุม นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ดม โดยลูกเสือโคร่ง ส่งมอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ดูแลต่อไป
.
นายอรรถพลฯ กล่าวตอนท้ายว่าได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง ให้เข้าตรวจสอบสวนเสือทุกสวน หากพบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต ให้มีการควบคุมการเพิ่มจำนวนเสืออย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกรณีที่มีพฤติกรรมลักลอบนำเสือไปขาย ให้พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ในการพักและเพิกถอนใบอนุญาต ไปถึงการบังคับใช้กฎหมายทันที